Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

Transgender เทคฮอร์โมนอย่างไร?

24 ก.ย. 2567


 

Transgender คืออะไร

   คนข้ามเพศ หรือ Transgender หมายถึง บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งก็คือความรู้สึกภายในเกี่ยวกับเพศของตัวเอง แตกต่างจากเพศสภาพที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิด เช่น มีเพศสภาพเป็นหญิง แต่อยากเป็นชาย หรือมีเพศสภาพเป็นชาย แต่อยากเป็นหญิง ซึ่งคนข้ามเพศจะสามารถแสดงออกทางอัตลักษณ์ทางเพศได้ผ่านกระบวนการข้ามเพศ โดยหนึ่งในนั้นคือการเทคฮอร์โมน

การเทคฮอร์โมนคืออะไร

   การเทคฮอร์โมนเป็นการรับฮอร์โมนเพศตรงข้ามเข้ามาในร่างกายของตนเองเพื่อกดฮอร์โมนเพศเดิมไว้โดยก่อนการเริ่มใช้ฮอร์โมนเพศ ต้องเริ่มจากการได้รับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ก่อน เพื่อทำการวินิจฉัยว่าเป็นบุคคลข้ามเพศ หลังจากนั้นจะต้องพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อประเมินสภาวะทางสุขภาพก่อนการเริ่มเทคฮอร์โมน

เช็กสุขภาพก่อนการเทคฮอร์โมนต้องทำอย่างไรบ้าง

  1. แพทย์ทำการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อประเมินความพร้อม ประเมินสุขภาพจิต และความเสี่ยงของโรคต่างๆก่อนการเทคฮอร์โมน ได้แก่
  • โรคหัวใจ
  • โรคอ้วน
  • โรคเบาหวาน
  • ความดันโลหิตสูง
  • ไขมันในเลือดสูง
  • ประวัติโรคมะเร็งในครอบครัว
  • การสูบบุหรี่
  • การนอนกรน
  1. ทำการเจาะเลือดเพื่อเช็คทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่
  • ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
  • ระดับไขมันในร่างกาย
  • การทำงานของตับ
  • การทำงานของไต
  • ระดับน้ำตาล
  • ระดับฮอร์โมนเพศ

การให้ฮอร์โมนมีแบบใดบ้างและแตกต่างกันอย่างไร

  • ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศสำหรับ หญิง เป็น ชาย ใช้ฮอร์โมน “เทสโทสเตอโรน (Testosterone)”

นิยมใช้ 2 รูปแบบ คือ

  1. เทสโทสเตอโรนชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
  • แบบฉีดทุก 2 สัปดาห์ นิยมใช้มากที่สุด
ข้อดี : ราคาไม่แพง ปรับขนาดยาได้ง่าย
ข้อจำกัด : ต้องมาฉีดยาที่สถานพยาบาลบ่อยๆ
  • แบบฉีดทุก 3 เดือน
ข้อดี : ตัวยาค่อยๆออกฤทธิ์ช้าๆทำให้ระดับยาในเลือดค่อนข้างคงที่ ไม่ต้องมาฉีดบ่อย
ข้อจำกัด : ราคาสูงกว่าแบบแรก และอาจมีการเจ็บบริเวณที่ฉีดเนื่องจากปริมาณยาที่มากกว่า
  1. เทสโทสเตอโรนชนิดเจลทาผิว
ข้อดี : ระดับยาในเลือดค่อนข้างคงที่ ไม่ต้องเจ็บตัวจากการฉีดยา สามารถทายาเองที่บ้านได้
ข้อจำกัด : ราคาสูง ต้องทายาทุกวัน อาจระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ทายา
  • ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศสำหรับ ชาย เป็น หญิง ใช้ฮอร์โมน “เอสโตรเจน (Estrogen)” ร่วมกับ “ใช้ยาต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน(Anti-Androgen)” เพื่อยับยั้งฮอร์โมนเพศชาย นิยมใช้ 2 รูปแบบ คือ
  1. เอสโตรเจนชนิดรับประทาน
ข้อดี : ราคาไม่แพง รับประทานได้สะดวก
ข้อจำกัด : มีผลต่อการทำงานของตับ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดอุดตัน
  1. เอสโตรเจนชนิดผ่านทางผิวหนัง(เจลหรือแผ่นแปะ)
ข้อดี : ระดับยาในเลือดค่อนข้างคงที่ ไม่รบกวนการทำงานของตับ ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตัน
ข้อจำกัด : ราคาสูงกว่า อาจมีการระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ใช้ยา

ผลลัพธ์ที่ได้จากการเทคฮอร์โมน
ผู้ที่เทคฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เพศชาย จะมีลักษณะ

  • เสียงทุ้มใหญ่ขึ้น
  • ผิวมันหยาบขึ้น
  • มีสิวเพิ่มขึ้น
  • มีหนวดเคราขึ้นตามร่างกาย
  • มีผมบางลง
  • ประจำเดือนขาด
  • ไขมันตามร่างกายลดลง และกล้ามเนื้อชัดขึ้น

ผู้ที่เทคฮอร์โมนเอสโตรเจน เพศหญิง จะมีลักษณะ

  • มีหน้าอกสะโพกพายขึ้น
  • เสียงเล็กแหลมขึ้น
  • ขนบริเวณร่างกายลดน้อยลง
  • กล้ามเนื้อเล็กลง
  • ผิวเนียนขึ้น

การเทคฮอร์โมนต้องเทคฮอร์โมนสม่ำเสมอหรือไม่

   การเทคฮอร์โมนจำเป็นต้องเทคฮอร์โมนอย่างสม่ำเสมอ เป็นเวลาอย่างน้อย 3 – 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง และต้องคอยรักษาระดับฮอร์โมนให้คงที่ เพราะหากฮอร์โมนมากเกินไปอาจจะเกิดผลข้างเคียงแทนได้ แต่ถ้าน้อยเกินไปก็อาจจะไม่เห็นผลลัพธ์ตามที่ต้องการ และหลังจากการเทคฮอร์โมนระยะยาว การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจจะเปลี่ยนแปลงถาวร แต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจจะกลับมาเป็นปกติได้หลังจากหยุดยาฮอร์โมน

ผลข้างเคียงจากการเทคฮอร์โมน

ผู้ที่เทคฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เพศชาย

  • มีภาวะเลือดข้น (Polycythemia)
  • ไขมันในเลือดสูง
  • ความดันโลหิตสูง

ผู้ที่เทคฮอร์โมนเอสโตรเจน เพศหญิง

  • เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น โรคหลอดเลือดดำอุดตัน, โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง
  • ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง

สามารถซื้อยาฮอร์โมนมาใช้เองได้หรือไม่?

   ผู้ที่ซื้อยาฮอร์โมนมาใช้เอง ต้องระวังความเสี่ยงในหลายด้าน ได้แก่ การที่อาจจะได้รับยาปลอม ยาที่ไม่มีคุณภาพ ยาที่ไม่เหมาะสมกับตนเอง และหากได้รับปริมาณยาที่มากเกินไปอาจเกิดผลข้างเคียงที่อันตรายได้ ดังนั้นการเทคฮอร์โมนควรได้รับการติดตามสุขภาพ ติดตามตรวจเช็คระดับฮอร์โมนและภาวะแทรกซ้อนอย่างสม่ำเสมอกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

หลังการเทคฮอร์โมนควรมีการตรวจเช็คสุขภาพอย่างไรบ้าง

  • แพทย์จะนัดติดตามหลังเทคฮอร์โมนทุกๆ 3 – 6 เดือน เพื่อประเมินผลการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
  • เจาะวัดระดับฮอร์โมน
  • ตรวจดูผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมน เพื่อทำการปรับยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

โดยการตรวจเช็กสุขภาพทั้งหมดนี้เพื่อความปลอดภัยและผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

สนับสนุนข้อมูลโดย: พญ. วีนิตา พิพิธประพัฒน์ แพทย์เฉพาะโรคต่อมไร้ท่อ, เบาหวาน, ไทรอยด์
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.